วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สิ่งที่ควรปฏิบัติที่เหมาะสมในงานศพ


การไปเข้าร่วมงานศพนั้น บางคนไม่ทราบว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไร วันนี้เราจะกล่าวถึงการไปงานศพ และการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการไปงานศพกันค่ะ

เมื่อไปถึงงานศพ เราควรแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ แต่บางครั้งต้องดูตามสถานการณ์เพราะการพูดกระตุ้นให้เจ้าภาพเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาอีกคงไม่เหมาะสมนัก บางทีเจ้าภาพยุ่งอยู่กับการต้อนรับแขกจนเกือบจะลืมเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปได้ชั่วคราวแล้วผู้ไปเคารพศพอาจแสดงออกด้วยอากัปกิริยาแทนคำพูดก็ได้

เจ้าภาพหรือตัวแทนของเจ้าภาพจะนำไปจุดธูปเคารพศพหากมีการจัดที่พุทธบูชาไว้ด้วยเช่น
เมื่อนำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัดต้องจุดธูปเทียนไหว้พระก่อน ด้วยธูปสามดอกแล้วจึงจุดธูปไหว้ศพเพียงดอกเดียวบางแห่งลูกหลานของผู้ตายจะคอยจุดธูปส่งให้กับแขก หากต้องจุดธูปเองควรใช้ไม้ขีดหรือจุดกับตะเกียงที่ตั้งไว้ต่างหากอย่ายื่นธูปไปจุดกับเทียนที่ตั้งไว้หน้าศพ เป็นการไม่เหมาะสม

หากนำพวงหรีดไปไว้อาลัยควรส่งให้เจ้าภาพหรือคนทีมีหน้าดูแลรับไปติดตั้ง ไม่ควรหาติดตั้งเอาเองตามใจชอบปัจจุบันไม่นิยมพวงหรีดที่ทำจากโฟมโดยทั่วไปจะใช้พวงหรีดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติซึ่งย่อมสลายง่ายหรือใช้พวงหรีดผ้าเพราะเมื่อเสร็จงานแล้วเจ้าภาพสามารถถวายให้พระนำไปใช้ประโยชน์ได้

พวงหรีดคือสิ่งที่ใช้แสดงความเสียใจและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ดังนั้น การเลือกพวงหรีดไปในงานศพ เราควรจะเลือกตามความเหมาะสมกับงานศพนั้นๆ และควรคำนึงถึงประโยชน์ของพวงหรีดหลังเสร็จพิธีงานศพ เพื่อไม่ให้สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พวงหรีดพัดลม แนวคิดใหม่ นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้


ที่วัดสุทธจินดาวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพนางอุไร ไชยศิริ อายุ 88 ปี มารดาของนายแพทย์กวี ไชยศิริ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานรี (มทส.) บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความเศร้าโศก แต่สิ่งที่สะดุดตาของผู้ที่มาร่วมงานก็คือ พวงหรีดพัดลมขนาดต่างๆ จำนวน 300 เครื่อง ที่วางอยู่เต้นท์หน้าศาลาและภายในศาลาสวดพระอภิธรรมศพ พัดลมทั้งหมดเป็นพัดลมที่ผู้มาร่วมงานนำมามอบให้แทนพวงหรีด

นายแพทย์กวี กล่าวถึงที่มาของการเสนอแนวคิดบริจาคพวงหรีดพัดลมแทนพวงหรีดชนิดอื่นๆว่า แนวคิดนี้เคยทำให้กับงานศพภรรยาที่เสียชีวิต เมื่อหลายปีก่อนที่จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนั้นมีพัดลมจำนวน 150 ตัว หลังจากเสร็จงานนำไปบริจาคให้กับทางวัดและตามโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น

"ผมรู้สึกสบายใจเมื่อพบว่าพวงหรีดพัดลมที่ตนเองมอบไปนั้นได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงคิดว่าหากผู้ที่จะมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลมารดา นำพัดลมมามอบให้แทนการนำพวงหรีดก็จะสามารถทำประโยชน์ได้มากเช่นกัน เนื่องจากพวงหรีดเมื่อทิ้งไว้นานๆดอกไม้ก็เหยี่ยวเฉา ส่งกลิ่นเหม็นและก็ต้องนำไปทิ้งเมื่อเสร็จงาน อีกทั้งพวงหรีดก็มีราคาแพง อย่างต่ำอยู่ที่ประมาณ 800 ถึง 1,500 บาท หากเทียบกับพวงหรีดพัดลม ราคาแต่ละเครื่องก็จะใกล้เคียงกับพวงหรีดชนิดอื่นๆ" นายแพทย์กวีกล่าว

นายแพทย์กวีกล่าวว่าคาดว่าจนถึงวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพจะยังคงมีผู้ที่มาร่วมงานนำพัดลมมามอบให้อย่างต่อเนื่องจะทำให้ตลอดทั้งการจัดงานบำเพ็ญกุศลมารดาของตนเองจะมีพัดลม กว่า 400 ตัว ที่จะนำไปบริจาคให้กับวัด โรงเรียน และโรงพยาบาลทั่วจังหวัดนครราชสีมาที่ยังขาดแคลน

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่พวงหรีดพัดลม ที่มีเฉพาะในโคราช ในจังหวัดอื่นๆ เช่น ชลบุรี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรปราการ ก็นิยมพวงหรีดพัดลมเช่นเดียวกัน เพราะในตอนนี้ คนไทยส่วนใหญ่มองถึงประโยชน์หลังการให้พวงหรีดมากกว่าความสวยงาม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการเริ่มต้นประยุกต์ใช้สิ่งใหม่ๆให้เกิดคุณประโยชน์มากขึ้น

ที่มา: มติชน matichon.co.th

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

งานศพกับพวงหรีด ประโยชน์ส่วนรวมทำได้ในงานนี้



พิธีงานศพในสมัยก่อนมักถูกจัดขึ้นที่บ้านผู้ตาย ขนบธรรมเนียมของภาคใต้เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ งานศพ 7 วัน ฆ่าหมู ฆ่าวัวเป็น 10 ตัว ยิ่งงานศพใดฆ่าหมูฆ่าวัวเยอะเท่าไหร่ ก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงาน นั่นคือประเพณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพราะยึดถือกันมาเช่นนั้น

ปัจจุบันการจัดพิธีศพเปลี่ยนไป ส่วนมากจะจัดกันที่วัด เพื่อความสะดวกในทุกๆ ด้าน ซึ่งการจัดงานศพในวัดทำให้เรื่องของการเล่นการพนันลดลงไปได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่ยังมีความละอายต่อสถานที่อยู่บ้าง จริงๆ แล้ว มองว่า "งานศพ" น่าจะได้รับการประยุกต์ให้เหมาะแก่ยุคสมัย เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สิ่งที่ควรทำน่าจะเป็นเรื่องการทำบุญ เคยได้อ่านวารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับหนึ่ง สรุปเนื้อหาในทำนองว่า
"สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการจัดงานศพ คือ การทำให้งานศพเป็นโอกาสในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การบริจาคเงินในนามของผู้ตายสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนพระสงฆ์ การบวชหน้าไฟของลูกหลานก็ไม่ควรให้ระยะเวลาสั้นเกินไป และควรให้ลูกหลานที่บวชได้ปฏิบัติธรรม อาณาปาณสติภาวนาอุทิศให้ผู้ตาย ส่วนธรรมเนียมของงานศพที่จัดหลายวัน ทำให้สิ้นเปลืองไปกับพิธีกรรมที่ไม่จำเป็นก็ควรนำมาทบทวนกันบ้าง"

การจัดพวงหรีด และจัดดอกไม้ประดับในพิธีและโลงศพ ไม่ควรให้มากเกินความจำเป็น สำหรับพวงหรีดที่มีผู้ร่วมงานนำมาเคารพ ที่มักนิยมใช้ดอกไม้สด พัดลม ผ้านวม หรือผ้าขนหนูมาประดิษฐ์ ถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นของเหลือใช้ เน่าเสีย หากให้เกิดประโยชน์เต็มที่ในการทำบุญ เจ้าภาพอาจสอบถามทางวัดว่าต้องการอะไรหรือเจ้าภาพตั้งใจจะนำของไปบริจาคใคร หรืออาจเขียนแจ้งในบัตรเชิญ หรือ ป้ายกำหนดการ เช่น "ขอเชิญบริจาคพันธุ์ไม้ถวายวัด แทนพวงหรีด" หรือ "ขอเชิญบริจาคหนังสือหรืออุปกรณ์กีฬามอบให้กับโรงเรียน แทนพวงหรีดงานศพ" วิธีการแบบนี้ จะช่วยลดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์

ของแจกในงานศพ  ถ้าพิมพ์เป็นหนังสือธรรมมะก็จะเป็นสิ่งดี  หรืออาจเปลี่ยนไปพิมพ์หนังสือเกี่ยวสุขภาพ  หรืออาจพิมพ์เป็นพจนานุกรมแจกเด็กนักเรียน โดยใช้ภาพผู้ตายเป็นปก ก็เป็นการสร้างสรรค์ ส่วนเจ้าภาพที่มีทุนน้อย อาจเขียนบรรยายความรู้สึกของการสูญเสียผู้ตายด้วยตนเอง รวมทั้งบรรยายวินาทีสุดท้ายของการเสียชีวิต ลงในกระดาษต้นฉบับ นำไปถ่ายเอกสารแจกในงานศพ ก็สร้างความแปลกใหม่ได้ไม่น้อย หากเจ้าภาพมีทุนมาก อาจแจกเป็นแผ่นซีดีธรรมะก็น่าสนใจ ได้ประโยชน์ไม่น้อย

สำหรับธรรมเนียมของงานศพที่ต้องเปิดฝาโลงให้ญาติได้เห็นผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำมรณสติ ระลึกรู้ถึงความตาย เป็นเรื่องการภาวนาภายในที่ต้องเผชิญกับอารมณ์โศกเศร้าแห่งการพลัดพราก เป็นจังหวะเหมาะในการเรียนรู้ตัวเองอย่างมีสติภายใต้ความโศกเศร้านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราไม่อาจหลีกหนีได้ ดังนั้น ในขณะที่เรายังมีชีวิต มีสติ ให้หมั่นทำบุญทำทาน ตักบาตร สวดมนต์ และปฏิบัติตนให้เป็นคนดีอยู่เสมอ เพื่อสะสมผลกรรมดีไว้ในภายภาคหน้า