วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

งานศพกับพวงหรีด ประโยชน์ส่วนรวมทำได้ในงานนี้



พิธีงานศพในสมัยก่อนมักถูกจัดขึ้นที่บ้านผู้ตาย ขนบธรรมเนียมของภาคใต้เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ งานศพ 7 วัน ฆ่าหมู ฆ่าวัวเป็น 10 ตัว ยิ่งงานศพใดฆ่าหมูฆ่าวัวเยอะเท่าไหร่ ก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงาน นั่นคือประเพณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพราะยึดถือกันมาเช่นนั้น

ปัจจุบันการจัดพิธีศพเปลี่ยนไป ส่วนมากจะจัดกันที่วัด เพื่อความสะดวกในทุกๆ ด้าน ซึ่งการจัดงานศพในวัดทำให้เรื่องของการเล่นการพนันลดลงไปได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่ยังมีความละอายต่อสถานที่อยู่บ้าง จริงๆ แล้ว มองว่า "งานศพ" น่าจะได้รับการประยุกต์ให้เหมาะแก่ยุคสมัย เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สิ่งที่ควรทำน่าจะเป็นเรื่องการทำบุญ เคยได้อ่านวารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับหนึ่ง สรุปเนื้อหาในทำนองว่า
"สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการจัดงานศพ คือ การทำให้งานศพเป็นโอกาสในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น การบริจาคเงินในนามของผู้ตายสนับสนุน หรือช่วยเหลือผู้ยากไร้ สนับสนุนพระสงฆ์ การบวชหน้าไฟของลูกหลานก็ไม่ควรให้ระยะเวลาสั้นเกินไป และควรให้ลูกหลานที่บวชได้ปฏิบัติธรรม อาณาปาณสติภาวนาอุทิศให้ผู้ตาย ส่วนธรรมเนียมของงานศพที่จัดหลายวัน ทำให้สิ้นเปลืองไปกับพิธีกรรมที่ไม่จำเป็นก็ควรนำมาทบทวนกันบ้าง"

การจัดพวงหรีด และจัดดอกไม้ประดับในพิธีและโลงศพ ไม่ควรให้มากเกินความจำเป็น สำหรับพวงหรีดที่มีผู้ร่วมงานนำมาเคารพ ที่มักนิยมใช้ดอกไม้สด พัดลม ผ้านวม หรือผ้าขนหนูมาประดิษฐ์ ถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นของเหลือใช้ เน่าเสีย หากให้เกิดประโยชน์เต็มที่ในการทำบุญ เจ้าภาพอาจสอบถามทางวัดว่าต้องการอะไรหรือเจ้าภาพตั้งใจจะนำของไปบริจาคใคร หรืออาจเขียนแจ้งในบัตรเชิญ หรือ ป้ายกำหนดการ เช่น "ขอเชิญบริจาคพันธุ์ไม้ถวายวัด แทนพวงหรีด" หรือ "ขอเชิญบริจาคหนังสือหรืออุปกรณ์กีฬามอบให้กับโรงเรียน แทนพวงหรีดงานศพ" วิธีการแบบนี้ จะช่วยลดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์

ของแจกในงานศพ  ถ้าพิมพ์เป็นหนังสือธรรมมะก็จะเป็นสิ่งดี  หรืออาจเปลี่ยนไปพิมพ์หนังสือเกี่ยวสุขภาพ  หรืออาจพิมพ์เป็นพจนานุกรมแจกเด็กนักเรียน โดยใช้ภาพผู้ตายเป็นปก ก็เป็นการสร้างสรรค์ ส่วนเจ้าภาพที่มีทุนน้อย อาจเขียนบรรยายความรู้สึกของการสูญเสียผู้ตายด้วยตนเอง รวมทั้งบรรยายวินาทีสุดท้ายของการเสียชีวิต ลงในกระดาษต้นฉบับ นำไปถ่ายเอกสารแจกในงานศพ ก็สร้างความแปลกใหม่ได้ไม่น้อย หากเจ้าภาพมีทุนมาก อาจแจกเป็นแผ่นซีดีธรรมะก็น่าสนใจ ได้ประโยชน์ไม่น้อย

สำหรับธรรมเนียมของงานศพที่ต้องเปิดฝาโลงให้ญาติได้เห็นผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำมรณสติ ระลึกรู้ถึงความตาย เป็นเรื่องการภาวนาภายในที่ต้องเผชิญกับอารมณ์โศกเศร้าแห่งการพลัดพราก เป็นจังหวะเหมาะในการเรียนรู้ตัวเองอย่างมีสติภายใต้ความโศกเศร้านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราไม่อาจหลีกหนีได้ ดังนั้น ในขณะที่เรายังมีชีวิต มีสติ ให้หมั่นทำบุญทำทาน ตักบาตร สวดมนต์ และปฏิบัติตนให้เป็นคนดีอยู่เสมอ เพื่อสะสมผลกรรมดีไว้ในภายภาคหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น